“ปิ่นโต” ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันคือ ภาชนะบรรจุอาหารที่มีมาอย่างเนิ่นนาน ใส่ข้าว ใส่แกง ใส่ขนม หอบหิ้วกันไปตามโรงเรียนหรือที่ทำงาน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เจ้าปิ่นโต มีเรื่องราวที่น่าสนใจซ่อนอยู่ วันนี้แอดปิ่นโตจึงพาคุณมาขุดคุ้ยเรื่องราวประวัติของ “ปิ่นโต” ภาชนะบรรจุข้าว ที่คุณจะต้องร้องว้าว ว้าว ว้าว
ทำไมต้อง ปิ่นโต?
มีข้อสันนิษฐานกันว่า ปิ่นโตน่าจะมาจาก “ชาวจีน” ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะในประเทศจีนเองก็มีปิ่นโตสำหรับใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารมานานเช่นกัน โดยปิ่นโตที่พบเป็นปิ่นโตที่สานจากหวาย มีการลงรักวาดลวดลายสวยงาม และมีโลหะร้อยเป็นขาเหมือนกับปิ่นโตของบ้านเราเลยล่ะค่ะ
และในอีกแง่มุมหนึ่ง คำว่า “ปิ่นโต” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “เบนโตะ” ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้มีข้อมูลยืนยันจากภาพเขียนของคนญี่ปุ่นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยผู้เขียนได้กล่าวชื่นชมความสวยงามของ ปิ่นโตญี่ปุ่น หรือ “จูบาโคะ” (เบนโตะชนิดหนึ่งที่มีหลายชั้นแบบปิ่นโตของไทย) ซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็งเขียนลวดลายสวยงาม
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าปิ่นโตจะเข้าสู่สังคมบ้านเราด้วยวิธีไหน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ญี่ปุ่นหรือจีน ต่างก็ใช้ ปิ่นโตเป็น “ภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร”
ปิ่นโตนั้นโก้จริง ๆ
“ปิ่นโต” ภาชนะบรรจุอาหารคู่สังคมไทยและชีวิตคนไทยมานานตั้งแต่เหนือจรดใต้นี้ มีคุณสมบัติพิเศษที่แฝงอยู่ ก็คือ มีชั้นหลายชั้นและมีหลายขนาด เหมาะกับอาหารสำรับไทยที่มักจัดอาหารประเภทต่าง ๆ สัก 3-4 ประเภทไว้กินด้วยกัน และตอบโจทย์ความต้องการบรรจุอาหารได้หลายชนิด
ในปัจจุบัน ถึงคนไทยเราจะนิยมใช้ปิ่นโตกันน้อยลง แต่ก็ยังคงเป็นภาชนะสำหรับใส่สำรับกับข้าวที่อยู่คู่กับคนไทยตลอด เห็นได้จากบางครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่มักจะทำอาหารใส่ปิ่นโตให้ลูกๆ ไปโรงเรียน หรือชาวออฟฟิศเองก็หอบหิ้วปิ่นโตกันไม่น้อยเลยค่ะ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนยังนิยมบรรจุอาหารใส่ปิ่นโตเพื่อนำไปถวายพระ ขณะที่ร้านอาหารก็มีบริการส่งถึงบ้านที่ใช้ปิ่นโตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์การทานอาหารที่หลากหลายในมื้อนั้น ๆ และยังเป็นการลดการใช้พาสติกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากบทความเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงเรื่อง “ตามรอยปิ่นโต… อาหารกับการเดินทาง” มหาวิทยาลัยบูรพา